แนวคิดรังสรรค์พื้นที่ทำงานแบบออฟฟิศ ABW ได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะพฤติกรรมและรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ มีความยืดหยุ่นและเป็นอิสระมากขึ้น เมื่อพฤติกรรมการทำงานของพนักงานเปลี่ยนไปองค์กรก็จำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบออฟฟิศให้สอดคล้องไปกับไลฟ์สไตล์การทำงานของพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ เพราะพื้นที่ทำงานที่พร้อมอำนวยความสะดวกต่อพนักงานและตอบโจทย์รูปแบบการทำงาน ย่อมส่งผลกับความสุขในการทำงานของพนักงาน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น และนั่นจะต่อยอดมายังศักยภาพและความสำเร็จที่มากขึ้นขององค์กร

แต่เมื่อพิจารณาสถานที่ทำงานขององค์กรต่าง ๆ แล้ว จะพบว่าการออกแบบออฟฟิศขององค์กรส่วนใหญ่ยังเป็นรูปแบบเดิม การออกแบบ จัดสรรพื้นที่ และจัดวางฟังก์ชันต่าง ๆ ของออฟฟิศยังไม่เอื้อและสอดรับกับไลฟ์สไตล์การทำงานของพนักงานในยุคนี้ นั่นจึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานไม่ได้เป็นไปตามที่องค์กรคาดหวัง ซึ่งอุปสรรคและปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพื้นที่ทำงานขององค์กรให้เป็นออฟฟิศ ABW

ออฟฟิศ ABW นวัตกรรมเพื่อองค์กรยุคใหม่

ABW นั้นเป็นคำย่อมาจาก Activity-based working อันเป็นกลยุทธ์หรือแนวคิดในการออกแบบออฟฟิศให้สอดรับกับพฤติกรรมและกิจกรรมการทำงานของพนักงาน ซึ่งในปัจจุบันองค์กรชั้นนำระดับโลกได้มีการปรับใช้ ABW มาเป็นหนึ่งกลยุทธ์ในการปรับปรุงองค์กรและผลลัพธ์ที่ออกมาก็เป็นที่น่าพอใจ เพราะทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยหัวใจสำคัญของออฟฟิศ ABW ก็คือ

  • ใช้ทุกพื้นที่อย่างคุ้มค่า
  • ลงตัวกับทุก Workstyle
  • ฟังก์ชันการใช้งานหลากหลาย
  • มีสไตล์และเอกลักษณ์ที่แตกต่าง

เรียกได้ว่าแนวคิดการปรับพื้นที่ทำงานแบบ ABW นี้เป็นการออกแบบนวัตกรรมอีกอย่างหนึ่ง แต่เป็นนวัตกรรมเพื่อการทำงานและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับองค์กรยุคใหม่นั่นเอง

เหตุผลที่ออฟฟิศ ABW ตอบโจทย์องค์กรยุคใหม่ได้ดี

สาเหตุที่ทำให้องค์กรต่าง ๆ ในปัจจุบัน หันมาให้ความสำคัญกับการปรับพื้นที่ทำงานภายใต้แนวคิด ABW ก็มาจากข้อดี 3 ประการนั่นคือ

1. ช่วยขยายขีดความสามารถในการทำงาน
ออฟฟิศแบบ ABW จะเน้นไปที่ความเป็นอิสระและเปิดกว้าง ทำให้ฟังก์ชันการใช้งานพื้นที่ในทุก ๆ ส่วนมีความยืดหยุ่น เป็นอิสระ และคล่องตัว สภาพแวดล้อมในออฟฟิศจะมีการจัดวางให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การทำงานของพนักงานขององค์กรให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่ดีในภาพรวมทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ปรับพื้นที่เพิ่มส่วน Focusing ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานที่มีความเป็นส่วนตัวสูง ปราศจากสิ่งรบกวนจากสภาพแวดล้อมรอบข้าง เพื่อให้เหมาะกับงานบางหน้าที่ที่ต้องใช้สมาธิมากเป็นพิเศษ อันจะช่วยให้พนักงานสามารถที่จะโฟกัสกับงานได้อย่างเต็มที่ตามต้องการ หรือเพิ่มพื้นที่ Recreation ซึ่งเป็นพื้นที่สันทนาการเต็มไปด้วยความผ่อนคลาย จะใช้พักผ่อนก็ได้ หรือจะใช้เป็นพื้นที่ทำงานภายใต้บรรยากาศที่ผ่อนคลายก็ได้เช่นกัน

การปรับพื้นที่ดังที่ยกตัวอย่างมานี้ก็เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจในการทำงาน อันจะนำไปสู่ความสุขในการทำงานของพนักงาน เมื่อผู้ปฏิบัติงานมีความสุขกับงานที่ทำก็เท่ากับว่าเป็นการช่วยขยายขีดความสามารถในการทำงานของพวกเขา ให้พวกเขาได้ปลดปล่อยศักยภาพที่มีออกมาในงานได้อย่างเต็มที่ และในท้ายที่สุดแล้วประโยชน์สูงสุดก็จะเกิดขึ้นกับองค์กรนั่นเอง

2. ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงาน
แนวคิดนี้จะช่วยให้ออฟฟิศเกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมีปฏิสัมพันธ์กัน ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มฟังก์ชันพื้นที่ในส่วน Connecting เข้าไป ให้เกิดเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ทุก ๆ คนสามารถเข้ามาใช้งานได้ตลอดเวลา และใช้ประโยชน์จากพื้นที่ส่วนกลางนี้เป็นพื้นที่สำหรับสร้างความเข้าใจ สานความสัมพันธ์ รวบรวมระดมสมอง และแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ ๆ เป็นพื้นที่ที่พนักงานแต่ละฝ่ายสามารถที่จะมาพบปะพูดคุยและทำงานร่วมกันได้ อย่างนี้เป็นต้น เมื่อพนักงานแต่ละคนและแต่ละฝ่ายสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ การทำงานก็จะราบรื่นต่อเนื่อง ซึ่งนั่นเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้องค์กรสามารถเดินไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้

3. เพิ่มความคุ้มค่าและช่วยลดต้นทุนธุรกิจ
ออฟฟิศแบบ ABW เป็นหนึ่งในวิธีการในการบริหารจัดการพื้นที่สำนักงานที่ดี เพราะสามารถที่จะดึงเอาทุกพื้นที่ในสำนักงานมาใช้ประโยชน์ได้ นั่นทำให้องค์กรได้รับความคุ้มค่าจากการลงทุนในสำนักงานมากขึ้น สามารถที่จะปรับลดการซื้ออุปกรณ์สำนักงานที่ไม่จำเป็นลงไปได้ และแทนที่ด้วยฟังก์ชันที่เป็นประโยชน์มากกว่า ก็เท่ากับว่าเป็นการช่วยลดต้นทุนธุรกิจไปอีกทางหนึ่งด้วยนั่นเอง

ทั้งหมดนี้คือความน่าสนใจและคุณประโยชน์ของแนวคิดรังสรรค์พื้นที่ทำงานแบบออฟฟิศ ABW อันจะช่วยให้ออฟฟิศดูเป็นมิตรกับพนักงานมากขึ้น เมื่อสร้างความสุขในที่ทำงานให้เกิดขึ้นกับพนักงานได้ ผลลัพธ์ที่ดีก็จะมาสู่องค์กรในท้ายที่สุดนั่นเอง